ความเป็นมาของกลุ่ม
ประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหม้อห้อมทุ่งเจริญย้อมสีธรรมชาติ เริ่มก่อตั้งจากการรวมกลุ่มของคนในชุมชนที่ประกอบการผ้าหม้อห้อม ประกอบกับในชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์ในด้านทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ทุนที่เป็นผลผลิต ทุนความรู้ภูมิปัญญา ทักษะต่างๆ ประเพณีวัฒนธรรม คน ความเป็นพี่น้อง ความไว้ใจของชุมชนและเงินทุน จึงได้จัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหม้อห้อมทุ่งเจริญย้อมสีธรรมชาติ ในวันที่ 5 สิงหาคม 2548 ได้รับการจดทะเบียนสหกรณ์ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2548 โดยใช้ชื่อ ว่า “สหกรณ์ผู้ผลิตหม้อห้อมทุ่งโฮ้งแพร่ จำกัด” เริ่มแรกมีสมาชิกจำนวน 7 คน โดยมีเงินตั้งต้นกลุ่มระยะแรกเพียง 30,000 บาท ซึ่งมาจากการรับสมัครสมาชิก โดยมีการจำหน่ายหุ้น หุ้นละ 100 บาท และเงินสมทบจากหน่วยงานท้องถิ่นในชุมชน ปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มเป็น 67 คน มีทุนหมุนเวียนประมาณ 500,000 บาท
จากการที่รัฐบาลส่งกลุ่มนักวิจัยเข้ามาวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับเรื่องภูมิปัญญาการทำผ้าหม้อห้อมในตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เพื่อนำข้อมูลมาพัฒนาชุมชนตำบลทุ่งโฮ้ง โดยใช้เวลาวิจัยประมาณ 1 ปี และได้ฝึกอบรมชาวบ้าน โดยใช้ระยะเวลาในการฝึกอบรม 1 สัปดาห์ และจากการที่กลุ่มนักวิจัยเข้ามาพัฒนาและให้ความรู้กับกลุ่ม จึงทำให้ทราบว่าทางกลุ่มต้องมีตัวแทนในการเป็นผู้นำในการสืบทอดภูมิปัญญาการย้อมสีหม้อห้อมสีธรรมชาติ เพราะเมื่อจบการอบรมแล้วชาวบ้านก็ไม่ค่อยสนใจกันมากนักเนื่องจากมองไม่เห็นภาพความสำเร็จ และในขณะนั้นอาจารย์ประภาพรรณ ศรีตรัย ซึ่งเดิมเป็นอาจารย์สอนอยู่โรงเรียนบ้านน้ำริน อำเภอลอง จังหวัดแพร่ และได้เออรี่รีไทร์ออกจากราชการมา และได้เข้ารับการอบรมด้วย เกิดความสนใจ และมีความคิดที่อยากจะถ่ายทอดสิ่งที่เป็นภูมิปัญญาของชาวจังหวัดแพร่มาช้านาน จึงได้จัดตั้งกลุ่มชุมชนหม้อห้อมทุ่งเจริญย้อมสีธรรมชาติร่วมกับเพื่อนๆ ข้าราชการที่เกษียณออกมา จากนั้นก็ได้เสาะหาภูมิปัญญาการย้อมสีหม้อห้อมแบบดั้งเดิมโดยให้ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนบ้านทุ่งโฮ้งมาถ่ายทอดภูมิปัญญา รวมทั้งเรื่องการทอผ้าด้วยมืออีกด้วย
ช่วงแรกเมื่อจัดตั้งกลุ่มได้ไม่นาน ผลิตภัณฑ์ยังไม่เป็นที่ยอมรับ ทำให้สมาชิกทยอยออกไป เหลือเพียง 3 คน จึงได้จัดการอบรมให้ความรู้ชาวบ้าน แต่ก็มีผู้สนใจไม่มาก จนถึงปี 2549 จากการอบรมทำความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวบ้านเข้าใจในการดำเนินงานมากขึ้น และประกอบกับผลิตภัณฑ์หม้อห้อมของกลุ่มเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีสมาชิกมากขึ้นประมาณ 20 คน ในช่วงปี 2550 ได้มีชาวญี่ปุ่นมาเยี่ยมชมกระบวนการย้อมสีหม้อห้อมและผลิตภัณฑ์ของกลุ่มแล้วเกิดสนใจ จึงติดต่อให้นำเข้ายังประเทศญี่ปุ่น แต่ปรากฏว่า ทางญี่ปุ่นตีกลับผลิตภัณฑ์ทั้งหมด เนื่องจากสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เกิดการขาดทุนครั้งใหญ่ จึงไม่คิดที่จะส่งสินค้าออกต่างประเทศอีก และสมาชิกกลุ่มมีการถอนตัวออกอีก
ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนหม้อห้อมทุ่งเจริญย้อมสีธรรมชาติ ได้นำการย้อมผ้าด้วยต้นห้อม
ซึ่งได้จากธรรมชาติและเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ในการทำผ้าหม้อหม้อสีธรรมชาติ มีการพัฒนาผ้าหม้อห้อมไปสู่สากล
ตลอดจนเป็นศูนย์การเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยว
อีกทั้งยังช่วยให้สมาชิกกลุ่มมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
เกิดความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต
แนวคิด
การหาแนวร่วมปฏิบัติการจากการที่ได้ล้มลุกคลุกคลานมากับหม้อห้อมย้อมธรรมชาติ 8 ปีที่ผ่านมา เชื่อว่าการดำเนินกิจการทุกอย่างที่สำเร็จส่วนใหญ่นั้น ขึ้นอยู่กับความรักในผลผลิต รักในงาน เป็นประการแรก เมื่อทำแล้วจึงจะก่อเกิดลูกค้า หรือ ศรัทธาขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง ท้ายที่สุดแล้วจึงจะเป็นการอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างยั่งยืน เชื่อว่าที่เราพูดความจริงกับลูกค้า ท้ายที่สุดแล้วเราได้เพื่อนร่วมทาง ไม่ใช่มองหน้ากันไม่ติด เพราะไปหลอกเขาเสียก่อนเพื่อจะฟันหัวเข้าบ้าน ตั้งแต่แรกแล้ว เชื่ออีกว่าเมืองแพร่นี้แคบนัก รู้จักกันไปหมดว่าใครทำอะไร ต่อมาก็พบว่าเมืองไทยนี้ก็แคบ คนในวงการเดียวกันก็จะรู้จักกันไปหมด ฉะนั้นแล้ว คำว่าโลกไร้พรมแดน ก็เป็นคำที่เป็นจริงอย่างแน่นอน ลูกค้าที่แท้จริง คนธาตุเดียวกัน ก็จะมารวมกันสื่อสารกันได้ คนเหล่านี้เป็นคนที่เห็นสาระสำคัญในผ้าหม้อห้อม ทั้ง วิถีหม้อห้อมในด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ โจทย์ใหญ่ของเราน่าจะเป็น
1. เราจะตอบสนองสิ่งที่จำเป็น (Needs not Wants) เพื่อเสริมศักยภาพ สลายข้อจำกัดของแต่ละผู้ผลิต ได้อย่างไร ในเงื่อนไขที่ซ้อนเข้ามาอีกคือ เราจะพัฒนาอย่างไรให้คนผลิตเห็นทั้งวิถีหม้อห้อมในด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ
2. เราจะพัฒนาอย่างไรให้คน/หน่วยงานที่ส่งเสริมเห็นทั้ง วิถีหม้อห้อมในด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ
3. เราจะสื่ออย่างไรให้คนทั้งหลาย เห็น วิถีหม้อห้อมในด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ที่เป็นมรดกวัฒนธรรมมาช้านาน โดยเชื่อมโยงไปหาแนวคิด “ความพอเพียง” และ “การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน” ในการที่จะเชื่อมร้อยโลกเข้าด้วยกันอย่างมีคุณค่าทั้งผู้เยือน และ ฝ่ายเหย้า เมื่อเราเห็นธงใหญ่ และเราจะปักธงเล็ก ๆ ได้อย่างไร กิจกรรมควรจะเป็นอย่างไร การสนับสนุนทรัพยากรไปหาแกนหลัก แกนรองอย่างไร การนำวัฒนธรรมประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น มาประยุกต์ใช้ในการทำผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ให้มีความแตกต่าง หลากหลายรูปแบบ และได้รับมาตรฐาน